วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ฝึกรหัสมอร์ส กับ E21IZC

รหัสมอร์สนั้นหากเปรียบได้ก็คือภาษา ๆ หนึ่ง เช่นภาษาอังกฤษ , ฝรั่งเศส , จีน ฯลฯ  ดังนั้นวิธีการฝึกแบบการพูด หรือ Conversation นั้น วิธีการฝึกจะไม่ใช้การจำรูป ยกตัวอย่างเช่น การฝึกภาษาอังกฤษที่ถูกต้องสำหรับการพูดคือ หาภาพประกอบการสอน กับ ภาษาอังกฤษ อาทิเช่น หากจะสอนคำว่า DOG ที่แปลว่าสุนัข ก็ต้องหาภาพสุนัขมาประกอบ และเพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบว่าสิ่งนี้คืออะไร

แต่ปัจจุบันการสอนภาษาอังกฤษในบ้านเราใช้การสอนแบบ ไทย เป็น อังกฤษ ดังนั้นสมองของเราจำต้องมีการแปลภาษาทั้งก่อนและหลัง คือ ภาษาอังกฤษ เป็น ภาษาไทย ในการรับ และ การตอบ ก็เป็น ภาษาไทย เป็น ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการฝึกที่ผิด ที่ถูกต้องคือ จะต้องเป็น ภาษาอังกฤษ ในการรับ และ ภาษาอังกฤษในการตอบ เช่นเดียวกับการฝึกรหัสมอร์ส ก็เช่นเดียวกัน ผู้ฝึกไม่ควรที่จะใช้การจำภาพของรหัสมอร์ส เช่น E คือ หนึ่งจุด I คือ 2 จุด อะไรประมาณนี้ 

เพราะหากท่านฝึกแบบดังกล่าวแล้ว สมองของผู้ฝึกจะจำภาพแบบการเรียนภาษาอังกฤษ คือ
ฟังเสียงรหัสมอร์ส - แปลภาพออกมาเป็นตัวอักษร - นึกคำตอบภาษาไทย - แปลเป็นภาษาอังกฤษ (ในกรณีการติดต่อสื่อสาร)
ฟังเสียงรหัสมอร์ส - แปลภาพออกมาเป็นตัวอักษร - เขียนบนกระดาษ (ในกรณีการสอบ)

ซึ่งหากท่านฝึกในลักษณะดังกล่าวแล้ว การรับฟังของท่านจะมีปัญหาทันที เพราะต้องประมวลเสียงและแปลออกมาเป็นภาพ จะทำให้ขั้นตอนในการรับมีเพิ่มขึ้นมาอีก 1 Step ซึ่งจะส่งผลในการรับฟังตัวอักษรถัดไป เมื่อตัวอักษรตัวแรกยังต้องแปลอยู่ ตัวอักษรตัวที่ 2 ก็ต่อเนื่องเข้ามาแล้ว ปัญญหาเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเสมอ ๆ ในการสอบในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ผู้ผ่านการสอบภาคทฤษฎี แต่ไม่สามารถผ่านภาคปฏิบัติได้ แม้นแต่มาซ่อมแล้ว ก็ยังไม่สามารถผ่าน เพราะได้รับการฝึกที่ผิด ๆ มาโดยตลอด

ดังนั้น วิธีการฝึกอย่างลัดแบบง่าย ๆ ภายใน 2 อาทิตย์ เพื่อเตรียมตัวสอบ และการปรับ Speed เพื่อไปเล่นความเร็วที่สูงขึ้น สิ่งที่ควรจะทำควรจะทำดังนี้
1. หาโปรแกรมเสียงรหัสมอร์สที่มีตัวอักษรครบทั้ง 26 ตัวอักษร ไว้ 1 ชุด แบบ Random และ ตัวเลข 1 ชุด แบบ Random
2. เปิดฟังประมาณ 2-3 วัน โดยอาจจะเปลี่ยนจากการฟังเพลงมาฟังรหัสมอร์สแทน โดยไม่ต้องไปอ่านอักษรภาพอะไรทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ต้องการคือ ให้แยกให้ออกว่าใน 1 ตัวอักษรนั้น คาแรกเตอร์เป็นอย่างไร และ เสียงไหนคือ เสียงสั้น และ เสียงไหนคือเสียงยาว 
3. หลังจาก วันที่ 3 ผ่านไป ให้ทดสอบตัวเองอีกครั้งว่า ตนเองแยกเสียงรหัสมอร์สออกแล้วหรือยัง เพราะบางท่านไม่สามารถแยกเสียงออกได้เลย ระหว่างเสียงสั้น กับ เสียงยาว
4. หากทำได้ดังนั้้นแล้ว ให้บันทึกอักษรในกลุ่มแรก ที่เป็นตัวอักษร E ไว้ 1 ชุด I 1 ชุด S 1 ชุด และ H 1 ชุด ตามลำดับ และ T , M และ O เปิดฟังแต่ละครั้งจนสามารถจำได้ว่าหากตัวอักษรนี้ คือ เสียงนี้ ตัวอักษรนี้ คือ เสียงนี้ ทำอย่างนี้สัก 2 วัน จากนั้นให้นำตัวอักษรเหล่านั้นมาผสมกันและ อัดเป็น Random เปิดฟังโดยทุกครั้งในการฟัง ให้ตอบออกมาเป็นคำพูดว่าตัวอักษรเหล่านั้นคือตัวอะไร ไม่ต้องใช้วิธีการจด ฝีกอย่างนี้อีกสัก 2 - 3 วัน
5. เมื่อได้แล้ว ให้ฝึกกลุ่มคำใหม่ คือ A , W , J , N , G , D , B , U , V , K , R ทำเช่นเดียวกันสัก 2 วัน
6. จากนั้น ให้อัดใหม่ โดยรวมกลุ่มคำเข้าด้วยกัน คือ E , I , S , H , T , M , O , A , W , J , N , G , D , B , U , V , K , R และทำเป็น Random โดยทุกครั้งในการฟัง ให้ตอบออกมาเป็นคำพูดว่าตัวอักษรเหล่านั้นคือตัวอะไร ไม่ต้องใช้วิธีการจด
7. หากในกลุ่มคำแรกยังไม่สามารถที่จะจำได้ว่าเป็นตัวอักษรอะไรเมื่อสัญญาณรหัสมอร์สปล่อยออกมา ให้เริ่มฝึกตั้งแต่ข้อ 4 ใหม่อีกครั้ง
8. หากมั่นใจแล้วว่า ใน 2 กลุ่มคำ ไม่ว่าจะเป็น Random ของทั้ง 2 กลุ่มคำ เมื่อเสียงรหัสมอร์สปล่อยออกมา เราสามารถที่จะบอกได้เลยว่าคือเสียงอะไรแล้วให้เริ่มกลุ่มคำที่ 3
9. กลุ่มคำที่ 3 ให้อัดเสียงตัวอักษร C , F , L , P , Q , X , Y , Z อัดอย่างละตัว แต่ให้ปล่อยเสียงหลาย ๆ ครั้ง เปิดฟังแต่ละครั้งจนสามารถ จำได้ว่าหากตัวอักษรนี้ คือ เสียงนี้ ตัวอักษรนี้ คือ เสียงนี้ ทำอย่างนี้สัก 2 วัน จากนั้นให้นำตัวอักษรเหล่านั้นมาผสมกันและ อัดเป็น Random เปิดฟังโดยทุกครั้งในการฟัง ให้ตอบออกมาเป็นคำพูดว่าตัวอักษรเหล่านั้นคือตัวอะไร ไม่ต้องใช้วิธีการจด ฝีกอย่างนี้อีกสัก 2 - 3 วัน
10.จากนั้น ให้บันทึกใหม่ โดยรวมกลุ่มคำทั้งหมดเข้าด้วยกัน และทำเป็น Random โดยทุกครั้งในการฟัง ให้ตอบออกมาเป็นคำพูดว่าตัวอักษรเหล่านั้นคือตัวอะไร ไม่ต้องใช้วิธีการจด ฝึกอย่างนี้อีกสัก 3-5 วัน
11. หลังจากนั้นให้ทดสอบว่าเมื่อรวมตัวอักษรทั้งหมด เราสามารถที่จะตอบได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ หากไม่ให้ดูว่าในกลุ่มอักษรไหนที่เรายังไม่คล่องให้กลับไปหัดในกลุ่มอักษรเหล่านั้นอีกเพิ่มขึ้น
12. หากสามารถรับได้คล่องและสามารถท่องเป็นตัวอักษรออกมาได้แล้ว ให้ฝึกเป็นกลุ่มคำ หรือ หาคำที่มีความหมาย นำมาอัดใหม่และเปิดฟัง แต่คราวนี้ไม่ต้องท่องออกมาเป็นตัวอักษร ให้ฟังจนจบในกลุ่มคำนั้น ๆ และบอกออกมาหลังจากจบกลุ่มคำว่ามีตัวอักษรอะไรบ้าง เช่น S C H O O L เมื่อรับฟังได้ครบให้บอกออกมาเลยว่า SCHOOL
13. จากนั้นก็เริ่มฝึกตัวเลข โดยดำเนินการแบบเดียวกันตามข้อ 4.
14. เมื่อใดที่ท่านฝึกได้จนถึงข้อ 12. และในการรับของท่านไม่มีข้อบกพร่องแล้ว ให้ฝึกอย่างนี้ออกไปอีกสัก 1 เดือน จนเกิดความชำนาญ จากนั้นค่อยเพิ่ม Speed ในการรับ
15. การเพิ่ม Speed ในการรับนั้นอย่างน้อยในการฝึกการเพิ่ม Speed จะต้องฝึกใน Speed นั้น ๆ อย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป
16. Speed แรกในการฝึกอยากให้ฝึกอยู่ที่ 5 คำต่อนาที จะดีที่สุดเพราะเป็น Speed ที่ไม่เร็วจนเกินไปนัก และ ไม่ช้าจนเกินไปนัก
17. เน้นเรื่องสุดท้ายคือ ไม่จำเป็นต้องฝึกส่งควบคู่กันไปนะครับ ให้ฝึกแต่เฉพาะรับอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อท่านรับได้ก็จะสามารถส่งได้

ปล. ในการติดต่อสื่อสาร หากท่านสามารถส่งได้เร็ว แต่เมื่อคู่สถานีส่งกลับมาตามความเร็วที่ท่านส่ง แล้วท่านรับไม่ได้นั้น จะเป็นการเสียมารยาทมากในการติดต่อสื่อสาร

ขอให้ประสบความสำเร็จกับการฝึก และเป็น A1 Operator ที่ดีได้ในอนาคตครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น